โครงการวิเคราะห์และประเมินผลการนำไปใช้ของค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานของส่วนราชการ


 ที่มาของโครงการ
ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ได้กำหนดให้ทุกหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจลดการใช้พลังงานลง ร้อยละ 10-15 เทียบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงของปีงบประมาณ พ.ศ.2546 และให้สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดให้ตัวชี้วัด (Key Performance Index: KPI) “ระดับความสำเร็จของการดำเนินการตามมาตรการประหยัดพลังงาน” เป็นหนึ่งในกรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของ ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 เป็นต้นไป

การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เป็นเจ้าภาพหลัก ในการกำหนดเกณฑ์การประเมินผล และสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ใช้ข้อมูลที่ส่วนราชการได้รายงานผลปริมาณการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง ผ่านเว็บไซต์ www.e-report.energy.go.th ที่ สนพ. จัดทำไว้ มาใช้ในการประเมินผลสำเร็จเท่านั้น

จากการวิเคราะห์ผลการดำเนินการตามมาตรการประหยัดพลังงานในปี 2549 ทำให้ทราบว่า การกำหนดเป้าหมายลดใช้พลังงาน 10% ทุกหน่วยงานนั้น มีข้อจำกัด สนพ. จึงได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ศึกษาค่ามาตรฐานการใช้พลังงานของหน่วยงานราชการ ที่แบ่งตามลักษณะการปฏิบัติงาน เพื่อนำมาปรับใช้แทนตัวชี้วัดเดิม และ สนพ. ได้กำหนดตัวชี้วัดใหม่เสนอคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งได้มีมติเห็นชอบให้นำเกณฑ์มาตรฐานการจัดการใช้พลังงานของหน่วยงานราชการไปใช้ในการประเมินผลตัวชี้วัดประสิทธิภาพของส่วนราชการ ด้านการดำเนินการตามมาตรการประหยัดพลังงาน โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2551

ในช่วงที่ผ่านมา มช. ได้จัดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงาน ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ หน่วยงานต่างๆ มีความเข้าใจค่ามาตรฐานการจัดการพลังงานและค่าดัชนีการใช้พลังงานมากขึ้น และสามารถกรอกข้อมูลได้ถูกต้อง อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ มช. ได้รับจากการสัมมนาดังกล่าวและคำถามของหน่วยงานที่มักจะสอบถามเข้ามายัง สนพ. ในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่าการประเมินผลด้วยค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานยังมีข้อจำกัดบางประการ ที่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องและสะท้อนถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของหน่วยงานอย่างแท้จริง


 วัตถุประสงค์ของโครงการ
สนพ. จึงได้มอบหมายให้ มช. ดำเนินการวิเคราะห์และประเมินผลการนำไปใช้ของค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานของส่วนราชการ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ

1. วิเคราะห์และประเมินผลของการนำเอาค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานมาใช้งานในช่วงปี 2551 ในลักษณะการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบระหว่างค่าคะแนนที่หน่วยงานราชการได้รับ ปริมาณการใช้พลังงานของหน่วยงานราชการ และการใช้ในระดับภาพรวมทั้งประเทศ เมื่อมีการใช้ค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานกับผลที่ได้รับจากการเกณฑ์การลดใช้พลังงานร้อยละ 10

2. วิเคราะห์และประเมินผลในลักษณะการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบระหว่างค่าคะแนนที่หน่วยงานราชการได้รับระหว่างกลุ่มหน่วยงานที่มีการเข้าร่วม “โครงการการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการตามมาตรการลดใช้พลังงานร่วมกับจังหวัด” กับสำนักงานพลังงานภูมิภาค กับผลที่ได้จากหน่วยงานอื่นๆ

3. สำรวจหน่วยงานในกลุ่มตัวอย่าง จำนวนไม่น้อยกว่า 15 แห่ง เพื่อทำการวิเคราะห์ผลเชิงลึกตามค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงานของหน่วยงาน และนำมาจัดทำเป็นกรณีตัวอย่าง(คลิ๊กเพื่อดูกำหนดการเข้าสำรวจ)

4. สำรวจความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการต่างๆ ถึงการปรับเปลี่ยนวิธีในการประเมินผลจากมาตรการการลดใช้พลังงานมาเป็นการใช้ค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงาน และจะได้นำไปวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกับผลความคิดเห็นที่มีการศึกษามาก่อนการนำค่ามาตรฐานมาใช้งาน